ทำไม EBITDA จึงไม่เท่ากับเงินสด

            หนึ่งความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า EBITDA (Earnings before interest, taxes, depreciation and amortization) คือการเข้าใจว่าเป็นการเพิ่มขึ้นเงินสดในรอบบัญชีนั้นๆ หรือกล่าวว่าเป็นกำไรที่เป็นเงินสด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเนื่องจาก EBITDA ไม่ได้รวมผลกระทบรายการที่เป็นเงินสดในหลายๆ รายการ

EBITDA


            EBITDA เป็นคำศัพท์ทางการเงินและบัญชี ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ รวมถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินมูลค่ากิจการ โดย EBITDA คำนวณมาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี (EBIT) บวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Depreciation and Amortization) ซึ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่ใช่เงินสดจึงบวกกลับมา

            แล้วเราจะหากำไรที่เป็นเงินสดได้อย่างไร เราสามารถหาได้จากงบกระแสเงินสด ในส่วนกระแสเงินสดกิจกรรมดำเนิน (Operating Cash flow) ซึ่งจะบ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ที่อยู่ในเกณฑ์เงินสด ทำให้เห็นว่าบริษัทมีเงินสดเพิ่มขึ้นหรือลดลงในกิจกรรมดำเนินงาน ซึ่งแตกต่างกับ EBITDA ที่อยู่ในเกณฑ์คงค้างแล้วผ่านการบวกกับรายการที่ไม่ใช้เงินสดเพียงรายการเดียวอย่างค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Depreciation and Amortization)

            จุดอ่อนของ EBITDA คือไม่ได้รวมผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ซึ่งประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) เช่น ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ฯลฯ และหนี้สินหมุนเวียน (Current liabilities) เช่น เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมในเงินทุนหมุนเวียนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินสด

            สุดท้ายการที่ EBITDA เป็นบวกไม่ได้หมายความในรอบบัญชีกิจการจะมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นบวกเสมอไป การดู EBITDA เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของเงินสด